นิสสัน พรีเซีย (อังกฤษ: Nissan Presea) เป็นรถยนต์ซีดานขนาดเล็กที่ผลิตขึ้นสำหรับตลาดเอเชีย ในช่วงปี ค.ศ. 1990 - 2000 เพื่อแข่งขันกับรถซีดาน 4 ประตู ในระดับหรูหราที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 90 โดยเฉพาะ เช่น Toyota Carina ED, Toyota Corona EXiV, Subaru Legacy, Mazda (Efini) MS-8, Honda Vigor ซีดาน และ Mitsubishi Emeraude
พรีเซีย R10 ถูกสร้างขึ้นโดยมีพื้นฐานเดิมมากจากแพลตฟอร์มของรถยนต์นิสสันพรีเมียรา P10 Nissan Primera โดยอบู่บนแนวคิดร่วมกันในหลายๆประการ เปรียบเหมือนเป็นรุ่นพี่น้องกันกับนิสสันพรีเซียเลยทีเดียว โดยสเปคของวัสดุภายในของพรีเซีย R10 นั้น จะมีการเพิ่มคุณภาพของวัสดุให้มีคุณภาพที่สูงขึ้น ทั้งวัสดุที่ใช้ผลิตเป็นเบาะและแผงข้างประตูถูกผลิตจากผ้าชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในรถนิสสันบลูเบิร์ด อุปกรณ์มาตรฐานซึ่งล้ำหน้ากว่ารถในยุคเดียวกันได้แก่ ไฟหน้าอัตโนมัติ ดวงไฟเขียวรอบชุดกุญแจสตาร์ท ระบบควบคุมสภาพอากาศแบบอัตโนมัติ ระบบควบคุมอุณหภูมิดิจิตอล สามารถปรับระดับความสูงที่นั่งใน 4 ทิศทางสำหรับที่นั่งคนขับ ระบบปัดน้ำฝนกระจกบังลมหน้าสามารถกำหนดเวลาเป็นช่วง กระจกมองข้างปรับและพับเก็บด้วยไฟฟ้า จุดเด่นคือหน้าต่างของประตูรถทั้งสี่บานเป็นแบบไร้กรอบ (frameless windows) ที่สามารถพบใน NX Coupe และ Silvia โดยในรุ่นท็อปสุดจะมีดิสก์เบรก 4 ล้อพร้อม ABS และที่ปัดน้ำฝนกระจกหน้ารถด้านหลัง
เสาเอ (A-pillar) จะมีขนาดเล็กหากเทียบกับรถขนาดเล็กทั่วๆไป และเสาบี (B-Pillar) ใช้เทคนิคการออกแบบที่ทำให้ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนักจากภายนอกว่าเสาบีนั้นมีอยู่หรือไม่ และหากมองจากด้านในรถ เสาบีจะมีขนาดเล็กมาก โดยเหลือพื้นที่เล็กน้อยเพียงแค่กว้างพอที่จะรองรับการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเท่านั้น เสาซี (C-pillar) ออกแบบโดยให้เสาซีนำเอากระจกบังลมถอยห่างจากมุมโค้งของกระจกเอง เพื่อให้ตัวกระจกอ้อมออกไปทางด้านหลัง จากเทคนิคการออกแบบทำให้เกิดมุมมองจากภายในที่กว้างขึ้น โดยให้มุมมองจากภายในสู่ภายนอกที่ให้มุมมองกว้างกว่า 300 องศา โดยมีแรงบันดาลใจของการออกแบบมาจากความต้องการให้ผู้ขับมีความรู้สึกคล้ายกับกำลังนั่งในที่ที่นั่งของนักบินของเครื่องบินรบ การออกแบบภายนอกมีแนวคิดที่โค้งมนที่ปราศจากมุมตรงใดๆทั้งสิ้น การออกแบบกระจังหน้านั้นกลับฉีกแนวจากรถในยุคนั้นที่นิยมออกแบบกระจังหน้าแบบตะแกรงหรือตาข่าย จากแนวคิดดังกล่าวทำให้ได้ผลลัพธ์โดยรวมออกมาเป็นรถดูเรียบโฉบเฉี่ยวและเป็นรถแห่งอนาคตอย่างแท้จริงในยุคนั้น
พรีเซีย R10 ถูกจัดให้อยู่ครึ่งทางระหว่าง Sunny Sentra PULSAR Bluebird และ Primera การออกในมิติภายนอกและขนาดของเครื่องยนต์เป็นไปตามระเบียบของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยให้ผู้ซื้อได้รับความหรูหราที่สูงขึ้นจาก Bluebird และ Primera ขณะที่ยังคงให้ความประหยัดในแง่ของภาษีในรถยนต์ขนาดเล็กเช่นเดียวกันกับ Sunny Sentra และ PULSAR
เมื่อเทียบกับรถยนต์ขนาดเล็กที่สุดของเวลานั้น นิสสัน พรีเซีย R10 จะค่อนข้างยาว โดยมีความยาวอยู่ที่ 4420 มม. โดยยาวกว่า Sentra อยู่ 15 เซนติเมตร ความสูงค่อนข้างต่ำสำหรับรถยนต์ซีดานทั่วไปโดยผู้โดยสารมักจะรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องก้มตัวเพื่อเข้าไปในรถ ที่มีความสูงหลังคาเพียง 1320 มม.เท่านั้น และด้วยความกว้าง 1,690 มม. ที่ถูกออกแบบให้กว้างเท่าที่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ 2 ท่าน และอาจมีเด็กอีกสักคนหนึ่งสำหรับที่นั่งด้านหลัง ฐานล้อมีความยาวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับซันนี่ โดยพรีเซีย R10 มีความยาวฐานล้ออยู่ที่ 2,500 มม. จึงถูกจัดให้เป็นรถยนต์ระดับชั้นนำสำหรับยุคของรถยนต์ขนาดเล็กที่อยู่ในระดับเดียวกัน เพราะทุกๆมิติความกว้างที่เพิ่มขึ้น (แม้จะเล็กน้อย) ทำให้ได้รับความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้น พื้นที่วางเท้าถูกจัดวางให้มีความจุสูง โดยมีความจุกว่า 300 ลิตร เนื่องด้วยวิธีการออกแบบให้เบาะหลัง (backseats) มีความแอ่นมากซึ่งทำให้ผู้โดยสารด้านหลังมีความสะดวกสบายมากขึ้น
ระบบกันสะเทือนหน้าเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท Macpherson struts ส่วนด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงก์ที่เป็นแขนขนาน เนื่องด้วยระบบกันสะเทือนเป็นแบบอิสระทั้งสี่ล้อ รวมกับสมบัติเด่นที่มีระยะฐานล้อที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้การขับขี่จะรู้สึกได้ถึงความมั่นใจในการขับขี่บนทางหลวงยาวๆ และความมั่นใจได้ในการเข้าโค้ง ระบบเบรกหน้าเป็นแบบดิสก์เบรก ที่ร่องระบายความร้อนบวกกับการที่มีลูกสูบเบรกแบบเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ เบรกหลังดิสก์เบรก และมีทั้งที่เป็นแบบดรัมเบรกโดยที่มีระบบปรับระยะเบรกอัตโนมัติ
ในประเทศญี่ปุ่น พรีเซีย R10 ส่วนใหญ่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ทั้ง GA15DS 1498cc, 1798cc เครื่องยนต์ SR18Di และ SR20DE 1998cc สำหรับส่วนที่เหลือของโลกจะใช้เครื่อง GA16DE เครื่องยนต์ขนาด 1598cc ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีการให้พละกำลังอย่างพอเพียงและประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องด้วยมีระบบ VTC (Variable Valve Timing)และ DOHC
ด้วยเจตนาของทีมวิศวกรที่ออกแบบภายในรถยนต์พรีเซีย R10 ที่ต้องการความเรียบเนียนของพื้นผิวพลาสติกบางส่วนที่หน้าคอนโซนให้มีความหรูหรา ทำให้เลือกใช้เบอร์พลาสติกที่ไม่ทนทานต่อความร้อนในประเทศไทย จนเป็นเหตุให้พลาสติกเช่น กรอบของช่องลมแอร์ และช่องอากาศเหนือคอนโซลหน้ารถ มีอาการกรอบแตกและละลาย
ไฟในกันชนหน้า รุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นไฟแบบแนวนอนตามยาว หรือเรียกว่ารุ่นไฟยาว ด้วยเจตนาให้ส่องพื้นผิวมากกว่าให้กระทบสายตารถที่สวนทางมา ทำให้ตำแหน่งการจัดวางทำมุมก้มต่ำลงไปที่พื้นมาก และด้วยเลนส์ที่มีความบางทำให้เมื่อมีหินดีดกระเด็นมากระทบตามองศาของเลนส์ไฟดังกล่าวทำให้แตกร้าวได้ง่าย แต่รุ่นที่จำหน่ายในญี่ปุ่นจะเป็นรุ่นไฟสั้น ทำมุมตั้งฉากกับพื้นและเป็นหลุมลึกหลบเข้าไปในกันชนทำให้มีโอกาสถูกหินกระทบแตกน้อยกว่า แม้ความสวยงามอาจดูเป็นรองแต่ก็จูงใจให้ผู้ใช้รถในไทยเปลี่ยนไปใช้กันชนรุ่นนี้เป็นจำนวนมาก